สรุปสูตรตัวเก็บประจุอนุกรมและตัวเก็บประจุขนาน การต่อตัวเก็บประจุ C1 C2 C3

สรุปสูตรการต่อตัวเก็บประจุอนุกรมและ ขนาน  

การต่อตัวเก็บประจุแบบอนุกรมและแบบขนานจะมีผลอย่างไรต่อค่าความจุรวมของมัน  ?   ไม่ต้องจำสูตรเพียงทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับระยะห่างของแผ่นแพลตและพื้นที่เก็บประจุก็จะเข้าใจและจำสูตรการต่อ C     การต่อตัวเก็บประจุเป็นเรื่องที่เรียนหลังจากเรียนเรื่องการต่อตัวต้านทานมาแล้ว  มันมีสูตรที่เหมือนกันมากเพียงแต่ต้องทำความเข้าใจสูตรก่อนใช้สูตร


1)  การต่อตัวเก็บประจุแบบอนุกรม    
การนำ C มาต่ออนุกรมกันทำให้ระยะห่างระหว่างแผ่นเพลตรวมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าความจุรวมลดลง ค่าความจุรวมที่ได้ จะน้อยกว่าค่าความจุของ C ตัวที่ค่าน้อยที่สุด อย่างเช่นเอา C  10uF   50uF   100uF  มาต่ออนุกรม  ค่าความจุที่ได้จะน้อยกว่า 10uF    นั่นคือผลรวมค่าความจุ   =    7.692uF   
สูตรการต่อ C แบบอนุกรมจะเหมือนกับการต่อ   R แบบขนาน

สูตรตัวเก็บประจุอนุกรม



กรณี C  2 ตัว  ต่ออนุกรมกันจะใช้สูตรเหมือน R  2 ตัวต่อขนานกัน

ตัวเก็บประจุอนุกรม



2) การต่อตัวเก็บประจุแบบขนาน
เมื่อนำ C มาต่อขนานกันทำให้พื้นที่เก็บประจุรวมมากขึ้น ส่งผลให้ค่าความจุรวมมากขึ้น  C ตัวที่มีค่ามากก็จะเก็บประจุได้มาก  ส่วน C ตัวที่มีค่าน้อยก็จะเก็บประจุได้น้อย ให้นึกภาพเปลี่ยนจาก C เป็นถังเก็บน้ำ เมื่อเปิดน้ำจากท่อให้ไหลเข้าทุกถัง น้ำก็จะแยกไหลเข้าแต่ละถัง ผลรวมของน้ำทั้งหมดคือน้ำที่อยู่ในแต่ละถังรวมกัน จากนั้นให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆและผลของประจุไฟฟ้าในการต่อ C แบบขนาน   นั้นคือประจุรวม  Q(T) =   Q1  +   Q2  +   Q3
สูตรการต่อ C แบบขนานจะเหมือนกับการต่อ R แบบอนุกรม คือนำค่า(ของแต่ละตัว)มารวมกัน


ตัวเก็บประจุแบบขนาน


เมื่อนำ C มาต่อขนานกันให้ระวังเรื่องพิกัดแรงดันทีทนได้เนื่องจากจุดต่อของ C1  C2 และ C3 เป็นจุดเดียวกันดังนั้นแรงดันทีทนได้จะเท่ากับแรงดันของ C ที่น้อยที่สุด  เช่นนำ  C  มีพิกัดแรงดัน  C1 =  25V  ,  C2  = 50V   ,  C3 =  100V   เมื่อนำ C ทั้ง 3 มาต่อขนานกันมันจะทนแรงดันได้แค่  25V 




แรงดันที่ตกคร่อม   C   เมื่อต่อ  C  แบบอนุกรม
แรงดันที่ตกคร่อม C แต่ละตัวเมื่อต่ออนุกรมกัน   C ค่าน้อยสุดจะมีแรงดันตกคร่อมมากที่สุด ส่วน C ค่ามากที่สุดจะมีแรงดันตกคร่อมน้อยที่สุด  เมื่อต่อ C   แบบอนุกรมกระแสที่ไหลในวงจรจะเท่ากันจะได้ประจุ   
Q(T)  =  Q1 =  Q2 = Q3   มีประจุไฟฟ้าจำนวนเท่ากันๆถูกเก็บไว้ใน C แต่ละตัว   แต่เนื่องจาก C แต่ละตัวมีค่าความจุไม่เท่ากัน  ให้นึกภาพเป็นถังเก็บน้ำขนาดเล็ก ถังเก็บน้ำขนาดกลาง และถังเก็บน้ำขนาดใหญ่  ทุกถังเก็บน้ำในในปริมาณที่เท่ากัน  ถังใหญ่จะมีแรงดันน้อยเนื่องจากมีพื้นที่เก็บมากแต่มีปริมาณน้ำเพียงน้อยเมื่อเทียบกับถังอื่นๆ    จากสูตร   Q =  CV  ดั้งนั้น  V  =  Q/C
V(S)  =    V1 +  V2   +V3
V(x)  =    (  CT /  Cx  ) V(s)


สูตรจะคล้ายๆกับกฏการแบ่งแรงดันในวงจรตัวต้านทานแบบอนุกรม    แต่ตำเหน่งของ Cx  ในสมการจะไม่เหมือนกัน  โดยของ  C    Cx จะอยู่ด้านล่าง   ส่วนของ R    Rx จะอยู่ด้านบน
ลองเปรียบเทียบแรงดันตกคร่อมใน R และ C  ตามรูปด้านล่าง



ตัวเก็บประจุอนุกรม







เลือกหัวข้อ อ่านต่อ

การอ่านค่าตัวต้านทาน   อ่านสีตัวต้านทาน     4  แถบ

การอ่านค่าตัวต้านทาน   อ่านสีตัวต้านทาน     5  แถบ

ต่อ คาปาซิเตอร์  C  อนุกรม  และ ขนาน
สูตร  วงจรอนุกรม  วงจรขนาน   กฏการแบ่งกระแส   และ กฏการแบ่งแรงดัน


วัด SCR และไทริสเตอร์มอดูล


วัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง


อ่านค่าเบอร์วาริสเตอร์  ( Varistor )

และหัวข้ออื่นๆ อีกมาก   ให้ดูที่รายการหัวข้อด้านข้าง   หรือ เลื่อนหน้าด้านล่าง  >  เพื่อดูหัวข้อถัดไป

สรุปสูตรวงจรอนุกรมและวงจรขนาน พร้อมกฎการแบ่งแรงดันและกฎการแบ่งกระแส

สูตรวงจรอนุกรมและวงจรขนาน พร้อมกฎการแบ่งแรงดันและกฎการแบ่งกระแส

บทความนี้สรุปสูตรวงจรอนุกรมและวงจรขนาน   การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรมและแบบขนานเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากและต้องเข้าใจเป็นอย่างดี    เพราะความรู้เรื่องเหล่านี้ต้องนำไปใช้ต่อในเรื่องการต่อตัวเหนี่ยวนำ  การต่อตัวเก็บประจุ  การต่อแบตเตอรี่  ซึ่งมีรูปแบบและสูตรคำนวณที่คล้ายกันมากแตกต่างกันในรายละเอียดย่อย     รวมถึงการนำไปใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้น   อย่างเช่น   การคำนวณแรงดันไฟเพื่อจัดไฟหรือไบอัสให้ทรานซิสเตอร์    การต่อ  R  กับ  IC   LED       เป็นต้น การต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆเข้าด้วยกันเป็นวงจร   ควรเริ่มเรียนรู้จากการต่อวงจรตัวต้านทานแบบต่างๆก่อน   เนื่องจาก R  มันไม่มีขั้วและเข้าใจง่าย     กฎการแบ่งแรงดันและกฎการแบ่งกระแสจะอยู่ตอนท้ายของบทความนี้



1.   สูตรวงจรอนุกรมและการต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม

การต่อแบบอนุกรมเป็นการต่ออุปกรณ์ให้เป็นลำดับและต่อถัดจากกัน   เมื่อต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม ความต้านทานรวมจะเท่ากับความต้านทานของ R  แต่ละตัวนำมารวมกัน  ดังนั้นการต่อ R  แบบอนุกรมจะทำให้ความต้านทานของวงจรมากขึ้น ผลที่จะเกิดกับวงจรคือ กระแสไหลได้น้อยลง  


สูตรวงจรอนุกรม



สูตรวงจรอนุกรม

เมื่อพิจารณาจากขั้วบวกของแหล่งจ่าย เส้นทางกระแสของวงจรมีเพียงเส้นเดียวทำให้   กระแส I รวม  = กระแส  I1  =  กระแส I2  =  กระแส I3   เมื่อต้องการทราบแรงดันที่ตกคร่อม R1 หรือ R ตัวใดๆในวงจร  ก็ใช้กฏของโอห์มได้เลย    เช่น  V(R1)  = I(1)xR(1)   ,  V(R2)  = I(2)xR(2)   , V(R3)  = I(3)xR(3)



2.   สูตรวงจรขนานและการต่อตัวต้านทานแบบขนาน

การต่อแบบขนานเป็นการต่อแยกให้มีสาขาย่อย  อาจมีเส้นสาขา   2 เส้นหรือมากกว่า  การต่อตัวต้านทานแบบขนานให้ใช้สูตรตามในรูปด้านล่าง   ผลของการต่อ  R แบบขนานทำให้ความต้านทานรวมของวงจรลดลง  สมมติ  R ค่า  1 K Ohm ต่อขนานกับ R ค่า 5 K Ohm   ผลรวมความต้านทานจะได้ค่าที่น้อยกว่าตัวต้านทานค่าที่น้อยที่สุดเสมอ  ในตัวอย่างนี้ R รวม จะได้ค่าน้อยกว่า  1 K Ohm  (ได้ 0.833 K Ohm)

พิจารณากระแสในวงจรขนาน   ชัดเจนว่ามีเส้นทางไหลของกระแสหลายเส้นทางเนื่องจากวงจรขนานมีเส้นสาขาหลายเส้นนั้นเอง     กระแสที่ไหลผ่าน R1  คือ  I1     กระแสที่ผ่าน R2 คือ I2       กระแสที่ไหลผ่าน R3  คือ  I3   โดยเส้นที่มีความต้านทานต่ำกระแสก็จะไหลผ่านได้มาก เมื่อต้องการทราบกระแสที่จุดไหนก็สามารถใช้กฏของโอห์มที่จุดนั้นๆได้เลย คือ   I1 =  V1 / R1     ,     I2 =  V2 /R2   ,  I3 = V3 /R3        พิจารณาแรงดัน V1    V2  และ  V3  นั้นเป็นจุดเดียวกัน นั้นคือวงจรขนานมีแรงดันเท่ากัน 

V1  =  V2  =  V3


สูตรวงจรขนาน





เมื่อต่อตัวต้านทาน 2 ตัวขนานกันจะใช้สูตรนี้   

สูตรวงจรขนาน



เมื่อต่อ  R ค่าเท่ากันหลายๆตัว  หรือ   จำนวน  N   ตัว  จะให้สูตรในรูปด้านล่างนี้

เช่น  R  100 โอห์ม 2 ตัว ต่อขนานกัน    N =2  ,  เมื่อแทนค่าตามสูตร   100 / 2  =  50  Ohm        

R  500  Ohm   จำนวน 5 ตัว  นำมาต่อขนานกัน  N  = 5    แทนค่าตามสูตร   500 / 5  =  100  Ohm    






กฎการแบ่งแรงดันและกฎการแบ่งกระแส

1)   กฎการแบ่งแรงดันในวงจรอนุกรม

เมื่อต่อวงจรแบบอนุกรม เส้นทางของกระแสมีแค่ 1 เส้น ดังนั้นกระแสที่ไหลผ่าน R ทุกตัวจึงเท่ากันหมด แต่แรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อม R แต่ละตัวจะไม่เท่ากัน  โดย R ที่มีค่าความต้านทานมากจะมีแรงดันตกคร่อมมาก  R ที่มีค่าความต้านทานน้อยจะมีแรงดันตกคร่อมน้อย  ที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวต้านทานที่มีค่ามากนั้นต้องใช้แรงดันมากในการดันอิเล็กตรอนให้ผ่านไปได้ จึงมีแรงดันตกคร่อมมาก   ส่วน R ที่มีค่าน้อยใช้แรงดันปริมาณน้อยก็สามารถดันอิเล็กตรอนให้ผ่านไปได้ จึงมีแรงดันตกคร่อม R นั้นน้อยกว่า สูตรที่สำคัญและต้องจำได้ คือ กฏการแบ่งแรงดัน  ตามรูปนี้


กฎการแบ่งแรงดัน



กฏการแบ่งแรงดันในกรณีมี R หลายตัวต่ออนุกรมกัน   บางครั้งใช้  Vin  หรือ Vs  โดย RT คือ R รวม
อยากทราบแรงดันตกคร่อมที่ R ตัวไหนก็ให้    R   ตัวนั้นเป็น  Rx





2)   กฏการแบ่งกระแสในวงจรขนาน

เราทราบมาแล้วว่าวงจรขนานนั้นมีเส้นทางไหลของกระแสหลายเส้นทาง  เมื่อเราต้องการทราบกระแสที่ไหลผ่านเส้นสาขาใดๆ  ก็สามารถใช้กฏของโอห์มที่จุดนั้นๆ หรือใช้กฏการแบ่งกระแสขึ้นอยู่กับสถานการณ์  กฏการแบ่งกระแสเป็นกฏพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกันกับกฏการแบ่งแรงดัน  ต้องเข้าใจและจำให้ได้เนื่องจากต้องใช้ในการแก้ปัญหาวงจร   วิเคราะห์วงจร และ  ออกแบบวงจร 


2.1    กฏการแบ่งกระแสเมื่อต่อ    R   แบบขนาน    2  ตัว

กฎการแบ่งกระแส

บางครั้งก็ใช้     I(T)  หรือ I รวม แทน   Iin  ในสูตร



2.2    กฏการแบ่งกระแสเมื่อต่อ   R   แบบขนานหลายตัว  /  มากกว่า 2 ตัว

กฎการแบ่งกระแส



รูปตัวอย่าง     การต่อ R แบบอนุกรม   และ  การต่อ R  แบบขนาน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม



อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  การต่อตัวต้านทานแบบขนาน



เลือกหัวข้อ อ่านต่อ

อ่านค่า   R   4  แถบสี

อ่านค่า  R    5  แถบสี


ต่อ คาปาซิเตอร์  C  อนุกรม  และ ขนาน
สูตร  วงจรอนุกรม  วงจรขนาน   กฏการแบ่งกระแส   และ กฏการแบ่งแรงดัน


วัด SCR และไทริสเตอร์มอดูล


วัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง


อ่านค่าเบอร์วาริสเตอร์  ( Varistor )

และหัวข้ออื่นๆ อีกมาก   ให้ดูที่รายการหัวข้อด้านข้าง  หรือ เลื่อนหน้าด้านล่าง  >  เพื่อดูหัวข้อถัดไป

วงจรอนุกรม ขนาน ผสม และผลการต่อหลอดไฟแบบอนุกรม ขนาดและผสม

ผลการต่อหลอดไฟแบบอนุกรม ขนาดและผสม  เพื่อศึกษา วงจรอนุกรม ขนาน ผสม

เมื่อต่อหลอดไฟแบบอนุกรม แบบขนานและแบบผสมจะมีผลอย่างไรต่อความสว่างของหลอดไฟ  ?   จะได้คำตอบและเห็นภาพที่ชัดเจนในบทความนี้    การใช้หลอดไฟเป็นสื่อช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเมื่อต่อวงจรไฟฟ้าแบบอนุกรมจะมีผลอย่างไรต่อหลอดไฟ  เมื่อต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนานจะมีผลอย่างไรต่อหลอดไฟ   บทความนี้เน้นให้เห็นภาพและผลที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการต่อวงจรไฟฟ้าแต่ละแบบ   ส่วนรายละเอียดการคำนวณจะอยู่ใบทความอื่น  เรื่องการต่อตัวต้านทานแบบต่างๆ   (อยู่ในเพจนี้)

วงจรไฟฟ้าคือเส้นทางการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนที่ครบรอบ   เคลื่อนออกจากแหล่งจ่ายไฟขั้วบวก  ผ่านสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดต่างๆและกลับมาที่แหล่งจ่ายไฟขั้วลบ    วงจรไฟฟ้าอย่างง่ายจะประกอบด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้า(แหล่งจ่ายไฟ)   สายไฟ (ตัวนำไฟฟ้า)   อุปกรณ์ใช้ไฟหรือโหลด (เช่น  หลอดไฟ  มอเตอร์ เป็นต้น )  และ มีสวิตช์เพื่อควบคุมวงจรไฟฟ้าให้ทำงานหรือหยุดทำงานได้สะดวก


ให้ดูภาพและผลลัพธ์การต่อวงจรไฟฟ้าแบบต่างๆก่อน  ส่วนการอธิบายและการทำความเข้าใจจะอยู่ตอนท้ายของบทความ  ในการทดลองนี้ใช้หลอดไฟที่เหมือนกันทั้ง 3 หลอด คือมีพิกัด   22 วัตต์   220Vac   ในการทดลองกับไฟ AC ต้องทำโดยผู้ที่ชำนาญงาน และมีอุปกรณ์ป้องกันครบเท่านั้น  เช่น มีมัลติมิเตอร์   เทปพันสายไฟ  ฉนวนรอง     สำหรับนักเรียนนักศึกษาเพื่อความปลอดภัยในการทดลองแนะนำให้ใช้แบตเตอรี่และหลอดไฟขนาดเล็กแทน



วงจรแบบอนุกรม  วงจรไฟฟ้า  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
 ผลการต่อหลอดไฟแบบอนุกรม   ทำให้ความต้านทานรวมในวงจรเพิ่ม ส่งผลให้กระแสไหลน้อยและแรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมหลอดไฟแต่ละหลอดไม่เพียงพอที่จะทำให้หลอดไฟสว่าง  
( มีกระแสไฟและแรงดันไฟไม่พอให้หลอดสว่าง)


   
วงจรแบบขนาน  วงจรไฟฟ้า
ผลการต่อหลอดไฟแบบขนาน  หลอดไฟสว่างมากเนื่องจากแรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมแต่ละหลอดเท่ากันหมดนั้นคือ 220Vac  หลอดที่ 1 = 220Vac     หลอดที่ 2 = 220Vac    หลอดที่ 3 =  220Vac
และตรงตามพิกัดที่หลอดไฟต้องการพอดีคือ  220Vac  



วงจรผสม  วงจรไฟฟ้า
ผลการต่อหลอดไฟแบบผสมจะได้ผลลัพธ์แบบผสม  หลอดที่ 2 และ 3 ต่อกันแบบขนาน   ตรงนี้กระแสแบ่งไหลเป็น 2 ทาง มีกระแสไฟไม่เพียงพอที่จะทำให้หลอดไฟสว่างและการต่อแบบขนานกันทำให้ความต้านทานรวมตรง 2 หลอดนี้ลดลง  จึงมีแรงดันไฟตกคร่อมตรง 2 หลอดนี้ลดลงไปด้วย   สรุปทั้งแรงดันไฟและกระแสไฟไม่เพียงพอที่จะทำให้หลอดที่ 2 และ 3 สว่าง  เนื่องจากแรงดันไฟฟ้าส่วนใหญ่ตกคร่อมหลอดที่ 1 จึงทำให้หลอดที่ 1 สว่างมากกว่าหลอดอื่นๆ 



ข้อดีและข้อเสียของการต่อแบบอนุกรม
อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดต้องการกระแสไฟและแรงดันไฟไม่มาก กระแสและแรงดันไฟจากแหล่งจ่ายที่มากเกินไปทำให้มันพังได้  ต้องต่อตัวต้านทานแบบอนุกรมกับมันเพื่อลดปริมาณกระแสและแรงดัน เช่น  การต่อ LED ( ไดโอดเปล่งแสง )   ข้อเสียของการต่อแบบอนุกรมคือถ้ามีจุดไหนก็ตามของวงจรขาดหรืออุปกรณ์บางตัวในวงจรเสีย  จะไม่มีกระแสไหลในวงจรนั้นเลยเนื่องจากเส้นทางเดินของกระแสมีแค่ 1 ทาง   อุปกรณ์ตัวอื่นในวงจรก็จะไม่ทำงานด้วย 


ข้อเสียของวงจรอนุกรม คือ เส้นทางเดินของกระแสมีแค่ 1 ทาง เป็นเส้นเดียวกัน  ถ้าหลอดไฟตัวไหนก็ตามเสีย  หลอดไฟตัวอื่นๆก็จะไม่สว่างด้วย   หรือ สายไฟขาดจุดไหนก็ตาม หลอดไฟจะดับหมด ตัวอย่างในรูปนี้หลอดสาธิตหลอดไฟดวงที่ 2 ขาด  หลอดที่ 1 และ 3 ก็จะไม่สว่างไปด้วย



ข้อดีและข้อเสียของการต่อแบบขนาน
การต่อแบบขนานทำให้มีเส้นทางเดินของกระแสหลายทาง  เมื่ออุปกรณ์ตัวไหนเสียอุปกรณ์ตัวอืนๆก็ยังคงทำงานต่อไป  แรงดันที่จ่ายให้อุปกรณ์เท่ากันทำให้มีแรงดันเพียงพอสำหรับอุปกรณ์แต่ละตัว ดังตัวอย่างการต่อหลอดไฟแบบขนานในรูปตัวอย่างตอนต้น    ข้อเสียของการต่อแบบขนานคือความต้านทานรวมของวงจรจะลดลงทำให้วงจรใช้กระแสไฟมากขึ้น    ต้องทำการคำนวณให้แน่ใจว่าแหล่งจ่ายไฟมีกระแสไฟเพียงพอ  อย่าต่ออุปกรณ์ขนานกันมากเกินไป


วงจรขนาน
ข้อดีของวงจรขนานคือ เส้นทางเดินของกระแสมีหลายเส้นทางและแยกกัน เมื่ออุปกรณ์ตัวไหนในวงจรเสีย อุปกรณ์ตัวอื่นๆก็ยังคงทำงานต่อไปเนื่องจากใช้เส้นทางกระแสแยกกัน   ในรูปนี้สาธิตหลอดไฟตัวที่ 2 ขาด หลอดตัวอื่นๆก็ยังคงสว่าง



ตัวอย่างการต่อแบบขนานในชีวิตประจำวัน  รูแต่ละจุดของสาย Line  (L)   จะต่อถึงกัน  
แรงดันไฟฟ้าแต่ละรู  L  จะเท่ากันกันคือ   220Vac   อย่าต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงขนานกันมากเกินไป จะทำให้กระแสเกินพิกัด   ( ฟิวส์จะขาด สายไฟจะร้อนมากและในที่สุดจะไหม้แล้วซ๊อตกัน )



ข้อดีและข้อเสียของการต่อแบบผสม
วงจรที่ใช้งานจริงนอกจากวงจรไฟฟ้าอย่างง่ายคือการต่อแบบอนุกรมและการต่อแบบขนานแล้ว  หลายวงจรจำเป็นต้องต่อแบบผสมเนื่องจากในวงจรมีอุปกรณ์หลายตัว เงื่อนไขการต่อใช้งานมีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของอุปกรณ์นั้นๆและเป็นการต่อแบบซับซ้อนด้วย  เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะทำงานได้ดีต้องมีการคำนวนที่ซับซ้อนมากขึ้น    เมื่อวงจรแบบผสมเสียต้องใช้การวิเคราะห์อาการเสียไล่เป็นจุดๆไปโดยใช้หลักการพื้นฐานในวงจรอนุกรมและขนานมาพิจารณา


 วงจรผสม   หลอดที่ 2 และ 3 ต่อกันแบบขนานต้องใช้หลักการของวงจรขนานมาพิจารณา    หลอดที่ 2 กับ 3 นี้ มันต่อแบบอนุกรมกันหลอดที่ 1  ต้องใช้หลักการของวงจรอนุกรมมาพิจารณา




รูปแบบการต่อวงจรไฟฟ้าแบ่งออกเป็น  3 แบบดังนี้

1) การต่อแบบอนุกรม คือ การต่ออุปกรณ์แต่ละตัวเรียงเป็นลำดับและตามกัน โดยท้ายของหลอดที่ 1 จะต่อกับส่วนต้นของหลอดที่ 2   ดูรูปประกอบจะเข้าใจง่าย  หลอดที่ 2 ต่อถัดจากหลอดที่ 1  และหลอดที่ 3 ก็ต่อถัดจากหลอดที่ 2    เมื่อมองภาพรวมจากอุปกรณ์ตัวที่1 ไปยังอุปกรณ์ตัวสุดท้ายจะพบว่ามีเส้นทางเดินของกระแสเป็นเส้นเดียวกัน 

กระแสและแรงดันที่ได้จากการต่อแบบอนุกรม  
เส้นทางเดินของกระแสมีแค่ 1 เส้น  ดังนั้นกระแสในวงจรอนุกรมจะเท่ากันทุกจุด 
คือกระแสที่ผ่านหลอดที่ 1 จะ = กระแสที่ผ่านหลอดที่ 2 = กระแสที่ผ่านหลอดที่ 3  
แรงดันในวงจร  จะมีแรงดันตกคร่อมหลอดที่ 1  ตกคร่อมหลอดที่ 2   และตกคร่อมหลอดที่ 3  
แรงดันจะถูกแบ่งไปที่หลอดแต่ละตัวหรืออุปกรณ์แต่ละตัวที่กระแสไหลผ่าน
หลอดที่มีความต้านทานสูงจะมีแรงดันตกคร่อมมากกว่าหลอดที่มีความต้านทานต่ำ  กรณีหลอดเหมือนกันแรงดันตกคร่อมจะเท่ากัน
ความต้านทานรวมในวงจรอนุกรมจะเท่ากับความต้านทานของทุกหลอดมารวมกัน

วงจรอนุกรม
             การต่อหลอดไฟ   3 หลอด  แบบอนุกรม 



    การต่อหลอดไฟแบบอนุกรม  หลอดที่ 2  จะต่อถัดจากหลอดที่ 1  




2)  การต่อแบบขนาน  คือการต่อให้มีเส้นทางย่อยและมีเส้นทางแยก โดยการเอาขาอุปกรณ์ที่เหมือนกันมาต่อรวมกันหรือการเอาขั้วอุปกรณ์ที่เหมือนกันมาต่อเป็นจุดเดียวกัน  ดูรูปประกอบที่สื่อความหมายนี้
จากรูปด้านล่าง เมื่อมองจากแหล่งจ่ายไฟเข้าไปในวงจร   จะมีเส้นย่อย 3 เส้นคือเส้น A  เส้น B  และเส้น C  นั้นคือหลอดไฟ 3 หลอดนี้ต่อขนานกัน  สีของสายไฟที่เหมือนกันจะนำมารวมกันเป็นจุดเดียว

กระแสและแรงดันในวงจรขนาน
สังเกตจากวงจรด้านล่างมันมีเส้นทางของกระแสหลายเส้นทาง วงจรขนานจึงมีกระแสแยกไหลตามสาขาย่อยโดยเส้นทางที่มีความต้านทานต่ำ กระแสก็จะไหลผ่านได้มากกว่าเส้นทางที่มีความต้านทานสูง  
พิจารณาแรงดันไฟฟ้าที่จุด  A    B   C  เป็นจุดเดียวกัน  และ จุด  D   E   F ก็เป็นจุดเดียวกัน ดังนั้น
แรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมหลอดไฟแต่ละหลอดถึงเท่ากัน    วงจรขนานมีแรงดันตกคร่อมเท่ากัน


การต่อแบบขนาน




การต่อแบบขนาน
   หลอดไฟ  2  หลอดนี้ต่อขนานกัน    สายที่สีเหมือนกันนำมาต่อร่วมเป็นจุดเดียวกัน




การต่อแบบขนาน
   หลอดไฟ  3   หลอดนี้ต่อขนานกัน  สายที่สีเหมือนกันนำมาต่อร่วมเป็นจุดเดียวกัน



3)  การต่อแบบผสม  คือ  การต่อแบบอนุกรมผสมกับการต่อแบบขนาน  โดยต้องมองจากภาพย่อยเป็นจุดก่อนแล้วนำพิจารณาเทียบกับจุดอื่นต่อไป     ยกตัวอย่างตามรูปด้านล่าง
ให้เริ่มมองจากหลอดที่ 2 และ หลอดที่ 3 นั้นต่อขนานกันอยู่  ต้องใช้หลักการต่อแบบขนานมาพิจารณา
จากนั้นให้มองหลอดที่ 2 กับหลอดที่ 3 นั้น   มันต่ออนุกรมกับหลอดที่ 1   ตรงนี้ต้องพิจารณาแบบวงจรอนุกรม



การต่อแบบผสม
     การต่อหลอดไฟแบบผสม  หลอดที่ 2 และ 3 ต่อขนานกัน จากนั้นนำ 2 หลอดนี้อนุกรมกับหลอดที่ 1





   การต่อหลอดไฟแบบผสม  หลอดที่ 2 และ 3 ต่อขนานกัน  จากนั้นนำ 2 หลอดนี้อนุกรมกับหลอดที่ 1



    ผลการต่อหลอดไฟแบบผสม ได้ผลแบบผสม



เลือกหัวข้อ อ่านต่อ

อ่านค่า   R   4  แถบสี

อ่านค่า  R    5  แถบสี

ต่อ คาปาซิเตอร์  C  อนุกรม  และ ขนาน
สูตร  วงจรอนุกรม  วงจรขนาน   กฏการแบ่งกระแส   และ กฏการแบ่งแรงดัน


วัด SCR และไทริสเตอร์มอดูล


วัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง


อ่านค่าเบอร์วาริสเตอร์  ( Varistor )

และหัวข้ออื่นๆ อีกมาก   ให้ดูที่รายการหัวข้อด้านข้าง  หรือ เลื่อนหน้าด้านล่าง  >  เพื่อดูหัวข้อถัดไป